ข่าวคราวเรื่อง อำเภอปากเกร็ด รอดพ้นจากน้ำท่วมใหญ่ มหาอุทกภัย 2554 และแล้วความเสี่ยงต่อน้ำท่วมของเราชาวซอยวัดกู้ ก็ค่อยคลี่คลายไปได้ด้วยดี รอดพ้นไปได้ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ ที่ทุกคนชาวพญาไทวิลเลจ คงทราบกันดีว่า ญาติใครๆก็โทรมาถามกันใหญ่หลังจากได้ดูข่าวจากทีวีกันว่า "รอดได้ไง" "ทำไมยังไม่ท่วมวะ" ..... มากมาย โดยเฉพาะเริ่มมีสโลแกน เกิดขึ้นตามมาทันทีว่า ปากเกร็ดโมเดล ลองอ่านต่อจากข่าวของกรุงเทพธุรกิจต่อเอาเองนะครับ
ปากเกร็ด.. เอาอยู่ นายกเทศมนตรีวิชัย บรรดาศักดิ์ เป็นข่าวทั่วไทย
ก่อนจะช่วยไขความกระจ่างเบื้องหลังปฏิบัติการณ์หักปากกาเซียนของชาวปากเกร็ดครั้งนี้ คีย์แมนคนสำคัญอย่างนายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด วิชัย บรรดาศักดิ์ ซึ่งทุกวันนี้แทบจะกินนอนอยู่ที่เทศบาล ขอออกตัวว่า สถานการณ์ของปากเกร็ดยังไม่ถือว่า "รอด" แต่ยังต้องเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง


อย่าว่าแต่ถนนรุ่นเก่าอย่าง "ติวานนท์" ซึ่งไม่มีท่อระบายน้ำเลย แม้แต่ถนนรุ่นกลางอย่าง "แจ้งวัฒนะ" ก็ยังมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ เพราะถึงจะมีร่องระบายน้ำประมาณเมตรเศษ แต่ก็เต็มไปด้วยเส้นสายระโยงระยางของระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา เทเลคอม ฯลฯ ที่ถูกใส่ลงไปในภายหลัง ทำเอาขวางทางน้ำเสียเกือบหมด
"อย่าไปรอน้ำท่วม เอาแค่ฝนตกมาเนี่ย ยังระบายไม่ออกเลย" วิชัย เอ่ย

โจทย์ต่อมาสำหรับ นายกฯ วิชัย จึงมีอยู่ว่า จะทำอย่างไรให้พื้นที่ที่เคยท่วม ไม่ต้องท่วมในครั้งต่อๆ ไป

..แผน "พนังกั้นน้ำ 100 ปี" จึงเกิดขึ้น บนสมมติฐานที่ว่า ถนนจะทรุดลงราว 5-10 เซนติเมตรทุกปี ฉะนั้นเทศบาลจึงพยายามแนวป้องกันหลังบ้านริมน้ำให้ได้ โดยจะสร้างถนนสูงหลังบ้านของชาวบ้านให้ชิดกับเจ้าพระยาให้มากที่สุด

"แผนแรก" คือ เรียงกระสอบทรายหลายแสนลูก และก่อคันดิน ตลอดความยาวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ราว 8 กิโลเมตร และคอยเสริมความสูงอยู่ตลอดทุกครั้งที่ระดับน้ำขยับขึ้น อย่างต่ำ 10 เซนติเมตร

แม้แผนแรกจะดำเนินไปด้วยดี แต่ด้วยแรงกดดันของมวลน้ำ ซึ่งมุดใต้ดินออกไประเบิดขึ้นในแนวคันกั้นน้ำ อย่างเช่นที่เกิดกับ วัดกลางเกร็ด
นั่นจึงถึงเวลาของ "แผนสอง" สำหรับเหตุการณ์น้ำทะลัก ที่จะต้องรักษาพื้นที่ชั้นในไว้ให้ได้ ด้วยการจำยอมให้มีพื้นที่เปียกอยู่บ้าง
ในภายหลัง จึงเริ่มปรับแผน ปล่อยน้ำเข้าในพื้นที่บ้างเล็กน้อย เพื่อลดแรงกดดันของน้ำลง ซึ่งก็ได้ผลพอสมควร
นอกจากนี้ ยังมีภูมิปัญญาจากชาวบ้านที่อยู่กับน้ำมาตลอด ตั้งแต่การเรียงกระสอบทราย การทำคันดินที่ต้องทำฐานให้กว้าง เสริมความแข็งแรงของฐานด้วยเสาเข็ม หมั่นเสริมคันไม่ให้ดินยุบ หรือถ้าปล่อยให้ดินแห้งเกินไปก็จะแตกได้ และต้องเสริมคันดินทุกๆ 2 วัน ไม่ว่าน้ำจะขึ้นหรือลง
"เรายังต้องบริหารน้ำด้วย อย่างคลองประปาปล่อยมา มีคลองบ้านใหม่ ลอดมาอีกคลอง บางทีก็ดันน้ำจากหลัก 6 เข้ามาพรวดเลย เราก็ต้องไปล็อกตรงนั้น ประตูก็ไม่มี แล้วตรงคลองบางพูดก็ไม่มี คลองบางตลาดก็ไม่มี เรามีคลองส่วยล็อกไว้อีกทีหนึ่ง พอน้ำเข้ามาก็ให้ลงคลองส่วย รีบดึงน้ำจากคลองส่วยผันออกไป มันก็วนกันอยู่อย่างนี้ ไม่อย่างนั้นน้ำจะเข้ามาเต็ม" นายกฯ วิชัย ยกตัวอย่าง
งบประมาณกว่า 100 ล้านแลกกับแนวคันดินสูง 3 เมตร ความยาว 50 กิโลเมตร พร้อมแผนงานที่เป็นระบบและรัดกุม ทำให้ปากเกร็ดยัง "รอด" และ "แห้ง" อยู่
"ถ้าเอาไม่อยู่ก็หมดไปเลยทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาล่ะครับ" เขายอมรับ
ถ้อยที มีน้ำใจ
พร้อมๆ กับการมุ่งป้องกันไม่ให้น้ำเข้าสู่พื้นที่ชั้นใน เทศบาลก็ต้องดำเนินแผนการเยียวยาพื้นที่รับน้ำไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ไม่ติดขัด
อย่าง ชาวชุมชนปากเกร็ดฯ 3 ที่ร้องขอแผ่นไม้มาทำสะพานทางเดิน ก็ได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากเทศบาล จนวันนี้ สุเทพ บอกว่า มีทางเดินไปถึงหน้าบ้านของชาวบ้านเกือบครบทั้งพื้นที่แล้ว
"เราพยายามทำความเข้าใจพี่น้องริมน้ำ แต่เราก็ต้องพยายามช่วยเหลือเขาให้เต็มที่ ต้องการอะไรต้องหาให้ได้ คนข้างในมาเยียวยาคนข้างนอก ไม่ให้เกิดความเครียด ต้องการอะไรก็ให้หมด ไม่มีบริจาคก็ตั้งงบซื้อให้" หรือในส่วนของภาคเอกชนเอง ก็รับรู้ความยากลำบากของบ้านที่ต้องจมน้ำ โดยพยายามเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งส่งข้าวส่งน้ำ กระทั่งเข้ามาช่วยเหลือตามแต่ชาวบ้านจะร้องขอ แต่การเดินแนวทางการทำงานด้วย "หัวใจ" ทำให้บางครั้ง การปฏิบัติงานของเทศบาลมีอาการขลุกขลักอยู่บ้าง ไม่ใช่ว่า คันดินทุกที่จะได้รับการดูแลหรือรับประกันความปลอดภัยจากชาวบ้านเสมอไป
"บางที ชาวบ้านมาพังคันดิน ลูกน้องก็มาบอกผม ว่าไม่ไหวแล้ว พอซ่อมก็มาพังอีก ผมก็บอกใจเย็นๆ ก่อน ปล่อยเขาไป ถ้าเขาอยากรื้อก็ปล่อยไปก่อน ปรากฏว่า รื้อได้ไม่ทันไร โทรมาหาเทศบาลเองเลย บอกว่ามาอุดให้หน่อย เพราะน้ำมันไหลแรง จนบ้านสั่น" นายกฯ วิชัย เล่าขำๆ เพื่อยืนยันว่า ยอมๆ ไปบ้าง ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป คือ วิธีการที่น่าจะเหมาะสมสำหรับจัดการมวลชนยามนี้
ทั้งหมด ถือเป็น "สูตรสำเร็จ" ของปากเกร็ดโมเดล
อ้างอิงข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ 11/11/2554